DLP หรือ Data Loss Prevention ได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่กระบวนการทางธุรกิจเปลี่ยนไปสู่โซลูชันบนคลาวด์มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลทางธุรกิจที่มีความอ่อนไหวถูกจัดเก็บหรือส่งผ่านในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งธุรกิจใดก็ตามที่มีการจัดการข้อมูลที่มีความอ่อนไหวของลูกค้า จำเป็นต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล มิฉะนั้นอาจเกิดการสูญเสียข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของธุรกิจและการเงิน

โดยการรั่วไหลของข้อมูลเพียงครั้งเดียวสามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจ และทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ปัจจุบันมีโซลูชันป้องกันการสูญเสียข้อมูลหลากหลายรูปแบบที่ธุรกิจสามารถนำไปใช้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในโลกดิจิทัลได้

Data Loss Prevention คืออะไร?

การป้องกันการสูญเสียข้อมูล (Data Loss Prevention หรือ DLP) คือ วิธีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญหรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนทางธุรกิจ ซึ่งช่วยป้องกันทั้งการสูญเสียข้อมูล และการรั่วไหลของข้อมูล โดยการสูญเสียข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเกิดจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์หรือข้อผิดพลาดของระบบ ในขณะที่การรั่วไหลของข้อมูลเกิดจากช่องโหว่ในระบบที่ถูกใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ข้อมูลถูกเปิดเผยต่อบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต

การรั่วไหล และสูญเสียข้อมูลมักเกิดขึ้นบ่อยเนื่องจากการป้องกันที่ไม่ดีพอ โดย DLP ช่วยให้มั่นใจว่า ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนจะไม่ถูกส่งทั้งภายในและภายนอกเครือข่ายที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่ง 3 พื้นที่หลักที่มักเกิดการรั่วไหลหรือสูญเสียข้อมูล คือ จุดปลายทาง (รวมถึงอุปกรณ์ทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย เช่น แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และอุปกรณ์ IoT) เครือข่าย และคลาวด์ โดยโซลูชัน DLP จะตรวจสอบจุดแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น อีเมล แพลตฟอร์มส่งข้อความ การโอนไฟล์ และอื่นๆ เพื่อตรวจจับการส่งข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีการส่งข้อมูลอย่างผิดกฎหมาย

ไม่เพียงเท่านั้น โซลูชัน DLP ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวของลูกค้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยโซลูชัน DLP จะช่วยให้มั่นใจว่า ธุรกิจเก็บรักษาข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของตนเอง และของลูกค้าอย่างปลอดภัยในทุกระบบ ทั้งแบบภายในองค์กรและบนคลาวด์ พร้อมแจ้งเตือนหากมีการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่เหมาะสม

DLP (Data Loss Prevention)

Data Loss Prevention ทำงานอย่างไร?

ระบบป้องกันการสูญเสียข้อมูลจะตรวจสอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเครือข่าย กระแสข้อมูล อุปกรณ์ปลายทาง คลาวด์ อีเมล การพิมพ์ และช่องทางอื่นๆ ที่ข้อมูลสามารถถูกส่งผ่านได้ โดยระบบ DLP จะติดตามข้อมูลใน 3 สถานะที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. ข้อมูลที่ไม่เคลื่อนไหว ข้อมูลที่ไม่ได้กำลังถูกประมวลผลหรือส่งต่อ ณ เวลานั้น แม้ไม่ได้อยู่ในกระบวนการใดๆ แต่ข้อมูลนี้ยังคงเสี่ยงต่อการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการรั่วไหลจากการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งระบบ DLP ถูกตั้งโปรแกรมให้ตรวจสอบข้อมูลนี้ โดยจัดการสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล เข้ารหัส และใช้มาตรการป้องกันอื่นๆ เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลหรือสูญหาย
  2. ข้อมูลที่กำลังถูกประมวลผล การรั่วไหลหรือสูญเสียข้อมูลมักเกิดขึ้นขณะที่ข้อมูลกำลังถูกประมวลผลหรือใช้งาน โดยระบบ DLP จะควบคุม และตรวจสอบกระบวนการ และผู้ที่เข้าถึงอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่า ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนได้รับการปกป้อง
  3. ข้อมูลที่กำลังเคลื่อนย้าย ข้อมูลที่กำลังถูกเคลื่อนย้ายมักถูกโจรกรรมได้ง่าย ซึ่งต้องใช้การเข้ารหัสข้อมูลอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า แม้ข้อมูลจะถูกดักจับระหว่างเดินทางผ่านเครือข่าย อาชญากรจะไม่สามารถใช้งานข้อมูลได้ เพราะต้องอาศัยกุญแจถอดรหัสที่ถูกต้อง

เนื่องจากกระบวนการเก็บ ประมวลผล และส่งต่อข้อมูลมีหลากหลายวิธี ดังนั้นจึงต้องใช้ระบบป้องกันการสูญเสียข้อมูลที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะของข้อมูล อย่างไรก็ตาม ระบบ DLP ทั้งหมดจะทำงานตามหลักการพื้นฐานที่เหมือนกัน 3 ข้อ คือ

  • ขั้นตอนที่ 1: การระบุและจำแนกข้อมูลที่มีความอ่อนไหวหรือสำคัญเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของระบบ DLP ทุกระบบ กระบวนการนี้ถือเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของทุกโซลูชัน เพราะหากไม่สามารถระบุได้ว่า ข้อมูลใดมีความอ่อนไหว ตำแหน่งที่จัดเก็บ ผู้สร้าง และผู้มีสิทธิ์เข้าถึง ระบบ DLP จะไม่สามารถป้องกันการรั่วไหลหรือการละเมิดข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในกรณีที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ
  • ขั้นตอนที่ 2: ระบบป้องกันการสูญเสียข้อมูลจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่า บุคลากรที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังควบคุมให้การส่งผ่านข้อมูลเกิดขึ้นเฉพาะบนเครือข่ายที่ได้รับการอนุมัติ และการประมวลผลข้อมูลดำเนินการผ่านอุปกรณ์ปลายทาง และแอปพลิเคชันที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
    ในการตรวจสอบข้อมูล ระบบ DLP จะใช้ตัวกรองอัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์เนื้อหาได้ โดยจะทำการบ่งชี้คำหรือชุดข้อมูลที่อาจเป็นความเสี่ยง และแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบกิจกรรมที่น่าสงสัยหรือมีความเสี่ยงสูง
  • ขั้นตอนที่ 3: เมื่อระบบ DLP ตรวจพบการละเมิดการเข้าถึงข้อมูล ระบบจะดำเนินการตอบสนองโดยทันที เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น มาตรการตอบสนองอาจประกอบด้วยหลายวิธี อาทิ การเข้ารหัสข้อมูลโดยอัตโนมัติ การระงับกระบวนการที่น่าสงสัย และการส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลระบบหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดขอบเขตของความเสียหาย และเพิ่มโอกาสในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

โซลูชัน Data Loss Prevention แบบไหนที่ควรมองหา?

แม้จะไม่มีระบบป้องกันการสูญเสียข้อมูลใดที่สามารถครอบคลุมทุกมิติของข้อมูลดิจิทัลในองค์กรได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ระบบส่วนใหญ่มีความซับซ้อนไม่มากนัก อีกทั้งบางระบบยังได้รับการติดตั้งในโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยขององค์กรเพื่อต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบอื่นๆ อยู่แล้ว

ยกตัวอย่าง ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส ไฟร์วอลล์ และโซลูชันรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์อื่นๆ ที่ทำหน้าที่ปกป้องเครือข่าย และอุปกรณ์ปลายทางจากการโจมตีทางไซเบอร์ในรูปแบบที่หลากหลาย โซลูชันเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการป้องกันองค์กรจากการโจมตีและลดความเสี่ยงของการรั่วไหลของข้อมูล
โดยระบบ DLP จะมุ่งเน้นการปกป้องข้อมูลใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

  1. ปกป้องเครือข่าย
    ระบบ DLP แบบเครือข่าย อาทิ Sangfor Secure Internet Access (SIA) ถูกติดตั้ง ณ จุดเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายภายในและภายนอกองค์กร ระบบนี้ทำหน้าที่ตรวจสอบ และคัดกรองข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ซึ่งถูกส่งผ่านช่องทางการสื่อสาร และแอปพลิเคชันเว็บต่างๆ นอกจากนี้ยังมีระบบ DLP บนคลาวด์ อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันแบบเครือข่ายที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับองค์กรที่ใช้บริการคลาวด์ในการจัดเก็บข้อมูล โดยมอบมาตรการรักษาความปลอดภัยระดับสูง เพื่อปกป้องข้อมูลที่มีความอ่อนไหว และป้องกันการเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตในสภาพแวดล้อมของบริการคลาวด์
  2. คุ้มครองการจัดเก็บ
    ระบบป้องกันการสูญเสียข้อมูลอีกประเภทหนึ่งมุ่งเน้นที่การคุ้มครองข้อมูลในส่วนของการจัดเก็บ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภายในองค์กรหรือบนคลาวด์ ระบบเหล่านี้ช่วยให้มั่นใจว่าข้อมูลได้รับการจัดเก็บในสถานที่ที่มีความปลอดภัยสูง และอาจมีการเข้ารหัสร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือการโจมตีผ่านช่องโหว่ต่างๆ
  3. ป้องกันอุปกรณ์ปลายทาง
    อุปกรณ์ปลายทางถือเป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงที่พบการรั่วไหลของข้อมูลบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในกระบวนการโอนไฟล์ การดาวน์โหลด หรือการพิมพ์เอกสาร ระบบป้องกันการสูญเสียข้อมูลสำหรับอุปกรณ์ปลายทางจะทำหน้าที่ตรวจสอบกิจกรรมเหล่านี้อย่างละเอียด และส่งการแจ้งเตือนทันทีที่ตรวจพบกิจกรรมที่มีลักษณะน่าสงสัย

Data Loss Prevention ช่วยป้องกันภัยคุกคามอะไรบ้าง?

การนำระบบ DLP ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ โดยสามารถป้องกันภัยคุกคามได้ ดังนี้

  1. ภัยคุกคามจากภายใน แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่พึงประสงค์ แต่บุคลากรภายในองค์กรอาจเป็นต้นเหตุของการรั่วไหลของข้อมูลหรือการโจมตีระบบได้ ดังนั้น การป้องกันองค์กรจากพนักงานที่มีจุดประสงค์ไม่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลภายในที่มีเจตนาร้ายมีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในการโจมตีทางไซเบอร์ โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับจุดอ่อนภายในเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต
  2. ภัยคุกคามจากภายนอก การโจมตีทางไซเบอร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ผู้โจมตีจากภายนอกมักใช้เทคนิคภัยคุกคามขั้นสูงแบบต่อเนื่อง (Advanced Persistent Threats: APTs) เช่น มัลแวร์เรียกค่าไถ่ เพื่อบุกรุกเข้าสู่องค์กรและเข้าถึงข้อมูล โดยกลุ่มผู้โจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่มักขู่ว่า จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อบีบบังคับให้องค์กรจ่ายค่าไถ่
  3. การรั่วไหลโดยไม่ตั้งใจ ในบางกรณี การรั่วไหลของข้อมูลอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ใช้งานในเครือข่ายขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อ ระบบป้องกันการสูญเสียข้อมูลสามารถตรวจจับ แจ้งเตือน และยับยั้งการรั่วไหลของข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายที่ร้ายแรงได้

ใครได้ประโยชน์จาก Data Loss Prevention?

ระบบ DLP มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อองค์กรธุรกิจทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือองค์กรขนาดใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงขนาดของกิจการ การปกป้องข้อมูลของลูกค้าควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญสูงสุด นอกจากนี้ องค์กรที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยของข้อมูลจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการนำระบบ DLP มาใช้ ในหลายกรณี ระบบดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบตามกฎระเบียบ และหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางการเงินที่อาจมีมูลค่าสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบ DLP ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการติดตามการเข้าถึงข้อมูล IP อีกด้วย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบว่ามีการเคลื่อนย้ายหรือเข้าถึงข้อมูลภายในองค์กรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่

Search

Get in Touch

Get in Touch with Sangfor Team for Business Inquiry

Related Glossaries

Cyber Security

SWG (Secure Web Gateway) คืออะไร สำคัญต่อองค์กรมากน้อยแค่ไหน 

Date : 06 Dec 2024
Read Now
Cyber Security

Understanding Smurf Attacks: History, Impact, and Prevention Strategies

Date : 23 Nov 2024
Read Now
Cyber Security

What is a Hardware Wallet?

Date : 17 Nov 2024
Read Now

See Other Product

Platform-X
Sangfor Access Secure - โซลูชัน SASE
Sangfor SSL VPN
Best Darktrace Cyber Security Competitors and Alternatives in 2024
Sangfor Omni-Command
Replace your Enterprise NGAV with Sangfor Endpoint Secure